Moodle Academy Moodle Admin Basics

ลิขสิทธิ์ (Copyrights)

"ลิขสิทธิ์" หรือ Copyrights เป็นเรื่องที่กำลังพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า "การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา" กันมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและระมัดระวังเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของ "ลิขสิทธิ์" เบื้องต้นครับ

ทำไมเราต้องมีกฎหมายเรื่อง "ลิขสิทธิ์"?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เดียวในปัจจุบันที่ได้เข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเป็นยุคทองของอินเทอร์เน็ตเลยก็ว่าได้ ด้วยความเร็วในการเข้าถึงไม่ว่าจะเป็น 3G, 4G ฯลฯ มีการอัพโหลดแชร์รูป วีดีโอ ผ่านสื่อกลางอย่างโซเชี่ยลมีเดียกันมากมายทั่วโลก

จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาของการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะเราไม่ได้นำใช้ส่วนตัว แต่เรากำลังเผยแพร่ต่อสาธารณะชนโดยคนที่เราไม่ได้รู้จักหรือเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่รูปภาพของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การนำภาพ/เสียง/เพลง โดยการดาวน์โหลดและนำไปเผยแพร่ต่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กันทั้งสิ้น

เอาล่ะครับ... จากปัญหาเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ "ลิขสิทธิ์" หรือ Copyrights ผมขอยกความหมายของ "ลิขสิทธิ์" จากเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้ให้ความหมายไว้ว่า
ลิขสิทธ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่ โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันที่ที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
ซึ่งในส่วนของกฎหมายลิขสิทธิ์จะให้ความคุ้มครองแก่งานที่สร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
  1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
  2. งานนาฏกรรม เช่น ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ
  3. งานศิลปกรรม เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ฯลฯ
  4. งานดนตรีกรรม เช่น ทำนอง ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ
  5. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทป ซีดี
  6. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง
  7. งานภาพยนตร์
  8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
  9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
สำหรับลิขสิทธิ์ที่จะพูดถึงนี้ไม่ได้หมายถึง "สินค้า" นะครับ แต่จะพูดถึง "ผลงานที่ได้สร้างสรรค์โดยบุุคล" จากความหมายของ "ลิขสิทธิ์" ข้างต้น (ที่ขีดเส้นใต้สีแดง) จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลนั้นจะให้ความคุ้มครองโดยทันทีที่ได้ริเริ่มสร้างผลงานนั้นๆ ขึ้นมา และต้องเป็นผลงานที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบจากใคร โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนให้ยุ่งยากด้วย  แต่...!! คุณต้องยืนยันให้ได้ว่ามันเป็นผลงานของคุณจริงๆ มีต้นฉบับและมีหลักฐานชัดเจนสามารถตรวจสอบได้

ตัวอย่างของการละเมิดลิขสิทธิ์
สมมุติว่าเราดาวน์โหลดภาพจากอินเทอร์เน็ต ที่เค้ามีไว้ขาย (Commercial) ไม่ได้แจกฟรี แล้วเรานำภาพนั้นมาดัดแปลง เช่น เปลี่ยนสีภาพหรือตัดต่อภาพ ในกรณีนี้ไม่ว่าภาพผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นแบบไหน ถ้าเค้าโครงเดิมของภาพต้นฉบับยังคงอยู่ นั่นแสดงว่าคุณกำลังละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของผลงานเค้าอยู่ครับ


สำหรับกรณีที่เราต้องการนำข้อความ บทความ รูปภาพ ไปใช้ในงานของเรา อาจทำได้โดยการทำหนังสือ จดหมายหรืออีเมลไปหาเจ้าของผลงานนั้นๆ โดยผลงานที่เราจะนำไปใช้งานได้นั้น เจ้าของผลงานจะต้องมีการตอบกลับทางจดหมายหรืออีเมลให้กับเรา จึงจะถึงว่าเราสามารถอ้างอิงและนำผลงานนั้นๆ ไปใช้ต่อได้โดยสมบูรณ์ เนื่องจากเจ้าของผลงานได้อนุญาตไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

เราสามารถดูตัวอย่างการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ประเภทต่างๆ ได้ที่ http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=category&sectionid=21&id=481&Itemid=571 โดยจะมีแบบฟอร์มพร้อมทั้งคำแนะนำต่างๆ ให้ด้วย

แล้วเราจะมีวิธีทำให้ผลงานที่เราสร้างให้มีหลักฐานยืนยันได้อย่างไรล่ะ?
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าการใส่ "ลายน้ำ" ไว้ภายในภาพคือการทำลิขสิทธิ์ของภาพตนเองอยู่ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ เพราะมันไม่ได้การันตรีว่าคุณเป็นคนสร้างภาพนี้มาจริงหรือไม่ โดยปกติแล้วภาพที่ใส่ลายน้ำเอาไว้ จะเป็นข้อความบอกว่า "คุณสามารถหาภาพนี้ได้จากที่ไหน" เท่านั้นเองครับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเค้าจะทำไว้สำหรับแจกฟรี หรือเสียค่าใช้จ่าย


แล้วแบบนี้เราจะป้องกันลิขสิทธิ์ของเรายังไงดีล่ะ? 
เรื่องนี้ไม่ยากครับ คุณก็แค่ยื่นข้อมูลจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไงล่ะ (คิดไปคิดมาน่าจะยากอยู่นะ) โดยไปขอแบบฟอร์มหรือจะดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากเว็บ http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_docman&Itemid=428 แล้วเตรียมข้อมูลและเอกสารประกอบให้ครบถ้วน โดยผลงานลิขสิทธิ์ที่สามารถใช้ยื่นประกอบคำขอ ได้แก่

  • วรรณกรรม  เช่น  หนังสือ ชุดเอกสาร แผ่นซีดี ฯลฯ
    โปรแกรมคอมพิวเตอร์  เช่น  สำเนา Source Code จำนวน 10 หน้าแรกและ 10 หน้า สุดท้าย หรือส่งซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และในกรณีที่มี Source Code น้อยกว่า 50 หน้า ให้ส่งแผ่นซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์อาจผนึกและลงลายมือชื่อกำกับด้วยก็ได้ 
  • นาฏกรรม  เช่น  แผ่นซีดี ภาพการแสดงพร้อมบรรยายประกอบท่าทางทุกขั้นตอน ฯลฯ 
  • ศิลปกรรม  เช่น  ภาพถ่ายผลงาน  ภาพร่างผลงาน  ภาพพิมพ์เขียว  
  • สิ่งบันทึกเสียง  เช่น  แผ่นซีดี  เทปเพลง ฯลฯ 
  • โสตทัศนวัสดุ  เช่น  แผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี ฯลฯ 
  • ภาพยนตร์  เช่น  แผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี ฯลฯ 
  • ดนตรีกรรม  เช่น  เนื้อเพลง  แผ่นซีดี  เทปเพลง  โน้ตเพลง  ฯลฯ 
  • แพร่เสียงแพร่ภาพ  เช่น  แผ่นวีซีดี  แผ่นซีดี ฯลฯ 
  • งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น ภาพถ่ายของผลงาน ฯลฯ 

โดยส่วนตัวแล้ว การจดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันยังดูคลุมเคลือและไม่ชัดเจน ส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันมันครอบคลุมในส่วนใดของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเราบ้าง เช่น Source Code หรือครอบคลุมทั้งในส่วนของ UX กับ UI ฯลฯ คงต้องรอผู้รู้มาให้คำแนะนำกันต่อไปครับ

** สุดท้ายนี้หวังว่าคนที่ทำสื่อไม่ว่าจะเป็น Graphic Design, Mulitmedia, Instuctional Design, e-Learning Developer, Content Developer ฯลฯ คงต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กันนะครับ เป็นไปได้ใช้ภาพหรือมีเดียที่เค้าทำมาเพื่อแจกฟรีจะดีกว่า หรือไม่ก็ซื้อภาพแบบไลเซ่นไปเลย วิธีที่ดีที่สุดคือสร้างเองเลยดีกว่าครับ เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดแล้วอาจเสียเวลาหน่อยแต่แลกกับปัญหาที่จะนำมาซึ่งความปวดหัวในภายหลังจะคุ้มกว่า หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ :)

แหล่งอ้างอิง:
[1] http://www.youtube.com/watch?v=5lFP1iaLDmc&feature=share
[2] http://www.ipthailand.go.th

ความคิดเห็น