Moodle Academy Moodle Admin Basics

การพัฒนา e-Learning โดยพื้นฐานของ TQF

เรื่องของ TQF หรือแปลเป็นอังกฤษว่า Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd) หรือให้เข้าใจเป็นภาษาไทยว่า "กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ" ซึ่งมันเป็นกรอบ (Framwork) ที่ถูกกำหนดมาหลายปีแล้วเหมือนกัน ผมจำช่วงเริ่มต้นของมาตรฐานนี้ไม่ได้เพราะบทความนี้ผมเขียนไว้นานแล้ว พอดีมีโอกาสไปสัมนาเรื่องนี้ ก็เลยเอามาปัดฝุ่นอีกครั้ง

                               ..........

โดยเจ้า TQF ถูกกำหนดขึ้นเพื่อแสดงระบบคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ระดับคุณวุฒิ ซึ่งมันแบ่งได้ 6 ระดับคือ

ระดับที่ 1 อนุปริญญา (3 ปี)
ระดับที่ 2 ปริญญาตรี
ระดับที่ 3 ประกาศนียบัตรบัณฑิต
ระดับที่ 4 ปริญญาโท
ระดับที่ 5 ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง
ระดับที่ 6 ปริญญาเอก

        เอาแปลแบบชาวบ้านแบบผมก็คือ มาตรฐาน TQF มันจะเป็นตัวกำกับหรือควบคุม อันนี้แล้วแต่จะตีความกัน กับบรรดาพวกมหาลัยทั้งของรัฐและเอกชน ให้มีมาตรฐานในเรื่องของคุณวุฒิระดับต่างๆ โดยเมื่อเรียนจบแล้วดีกรีของความรู้ที่จบมาจะต้องมีมาตรฐานใกล้เคียงกันกับมหาลัยอื่นๆ (รวมถึงมหาลัยจากต่างประเทศด้วย)  เช่น คุณจบม.รามคำแหง ก็ต้องมีมาตรฐานเหมือนคุณจบมาจาก ม.จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยหลักการสำคัญของ TQF ก็คือ
  • เป็นเครื่องมือในการนำแนวนโยบายการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาสู่การปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
  • มุ่งเน้นที่ Learning Outcomes ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเชิงคุณภาพเพื่อประกันคุณภาพบัณฑิต
  • มุ่งประมวลกฎเกณฑ์และประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเข้าไว้ด้วยกันและเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน
  • เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ชุมชน สังคม และสถาบันอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับคุณลักษณะของบัณฑิตที่คาดว่าจะพึงมี
  • มุ่งให้คุณวุฒิหรือปริญญาของสถาบันใดๆ ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและเทียบเคียงกันได้กับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีทั้งในและต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถจัดหลักสูตรตลอดจนกระบวนการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย โดยมั่นใจถึงคุณภาพของบัณฑิต ซึ่งจะมีมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามที่มุ่งหวัง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ เป็นที่พึงพอใจของนายจ้าง
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จาก bullet ที่ 2 ด้านบน ในส่วนของ Learning Outcomes ทาง สกอ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ได้กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Domains of Learning Outcomes) ไว้ 5 ด้านที่ต้องมีในแต่ละหลักสูตร/วิชา ก็คือ
  • ด้านคุณธรรมจริยธรรม (Ethic & Moral)
  • ด้านความรู้ (Knowledge)
  • ด้านทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills)
  • ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่่างบุคคลและความรับผิดชอบ (Interpersonal Skills & Responsibility)
  • ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Numerical Analisys, Communication and ICT, Skills)

        จะเห็นได้ว่า Domains of Learning Outcomes ทั้ง 5 ด้าน ในแต่ละหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องเพิ่มเข้าไปในแต่ละสาขารายวิชาด้วย ซึ่งปัจจุบัน ทาง สกอ เองได้ประกาศใช้ TQF ไปแล้ว โดยมีตัวอย่างของแบบ มอค1-7 มาให้ดูประกอบเป็นตัวอย่างให้ โดยที่สาขาคอมพิวเตอร์หรือสายวิทยาศาสตร์จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นัก เพียงแต่เพิ่มในส่วนของ ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และด้านคุณธรรมจริยธรรมเข้าไป ที่เห็นจะมีปัญหาก็พวกสาขาสังคมศาสตร์ทั้งหลาย ที่อาจจะต้องเรียนคอมพิวเตอร์ และคณิตศาตร์มากขึ้น และมีประเด็นที่ทางผู้สอนที่รับผิดชอบวิชาที่ตนสอนอยู่ จะมีงานเพิ่ม (งานงอก) คือจะต้องทำเอกสาร มอค1-7 ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน (ไม่รู้ตอนนี้มีแนวทางแก้ปัญหานี้ไปรึยัง)

        โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าดี ในแง่ที่ว่าจะยกระดับการศึกษาไทย ด้วยมาตรฐาน TQF เพราะจะทำให้ไม่ว่าคุณจะจบจากที่ไหน จะดังหรือไม่ดัง ก็ต้องมีคุณภาพเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน แต่ก็มีบางท่านที่คิดว่ามันอาจจะตึงเกินไปหรือไม่? ที่ใช้กฏเกณฑ์อะไรแบบนี้กับเรื่องของการศึกษาและมีผลกระทบกับอาจารย์ และกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของการเพิ่มภาระงานให้กับอาจารย์ผู้สอน รวมถึงมีการประเมินผลในแง่มุมต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่ามันก็เหมือนกับที่เรากำลังใช้มาตรฐานอื่นๆ เช่น ISO, มอก ฯลฯ ที่จำเป็นต้องมีมาตรฐานซึ่งเป็นเครื่องการันตรีคุณภาพด้านต่างๆ โดยในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นด้วยครับ (เพราะอาจไม่ใช่อาจารย์ที่เค้าไปทำโดยตรง) เพียงแค่อยากให้ประเทศมันพัฒนาในเรื่องการศึกษาก็เท่านั้น ไม่ใช่จบออกมาก็ไม่มีงานทำ มายืนขายของกันตามตลาดนัด

        ในเมื่อมีกรอบ TQF ออกมาอย่างนี้ ในฐานะคนทำสื่อเพื่อการศึกษาอยู่แล้ว จึงต้องปรับตัวเองเพื่อให้ได้มีมาตรฐานเช่นเดียวกัน โดยผมจะแยกส่วนของ Domains of Learning Outcomes ทั้ง 5 ด้าน ออกมาเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนา e-Learning ที่ใช้ในการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยแยกเป็นรายละเอียดแต่ละโดเมนดังนี้
  1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม (Ethics and Moral)โดยการเรียน e-Learning นั้น ค่อนข้างจะวัดด้านคุณธรรมและจริยธรรมยากพอสมควร แต่ในที่นี้เราอาจจะใช้การวัดผลโดย ทางผู้สอนอาจจะให้งานเป็นกลุ่ม/ทีม โดยอาจจะให้การบ้านและให้แต่ละคนช่วยกันทำ โดยจะทำผ่านระบบ e-Learning เช่น ผ่านกระดานสนทนา ผ่าน Broadcasting เช่น Whiteboard, VDO Conference โดยอาจมีการ Comment กันภายในกลุ่ม หรือดูงานกันภายในกลุ่มก่อนส่งให้กับผู้สอน โดยการวัดอาจใช้คอมพิวเตอร์หรือซอฟแวร์ช่วยบันทึกผล ไม่ว่าจะเป็น การมีส่วนร่วมกันในการทำงาน, ความถี่ในการเข้ามาทำงานบนระบบ และผลงานที่ให้ทำ เป็นต้น
  2. ด้านความรู้ในด้านของความรู้ เราอาจจะออกแบบวิธีการวัดผล โดยใช้ข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นปรนัย หรืออัตนัย ซึ่งบนระบบ e-Learning มีรูปแบบข้อสอบต่างๆ ให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบบ multiple choice, single choice, true-false, matching ฯลฯ อีกทั้งยังสามารถวัดในเรื่องของความเข้าใจ โดยอาจใช้การอธิบาย ผ่าน VDO Conference, Chatroom, Whiteboard ซึ่งจะเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนทั้งแบบ Asycronize และ Sycronize ได้อีกด้วย
  3. ด้านทักษะทางปัญญาในด้านนี้จะเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ผู้สอนอาจจะ Assign ให้ผู้เรียนใช้ VDO หรือ Web Conference ทำ Lab ร่วมกัน มีการให้ใช้ Forum ปรึกษาหารือ หรือค้นคว้าวิจัยผ่าน Blog, Wiki, หรือ Search Engine เป็นต้น
  4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่่างบุคคลและความรับผิดชอบในด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ จะเน้นการปฎิสัมพันธ์กับกลุ่ม/ทีม โดยผู้สอนอาจจะ Assign งานให้กลุ่ม/ทีม ไปทำร่วมกัน และส่งเสริมให้มีการ Comment งานกันเองได้ผ่าน Forum หรือ Chatroom เพื่อให้สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือกันและกัน โดยภายในกลุ่ม อาจแบ่งความรับผิดชอบให้กับสมาชิกในกลุ่มไปทำงานนั้นๆ
  5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการวิเคราะห์เชิงตัวเลข และการใช้เทคโนโลยีนั้น ไม่ค่อยจะมีปัญหาสักเท่าไหร่กับการเรียน e-Learning เพราะผู้เรียนอย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็น ไม่อย่างนั้นก็เรียนผ่าน e-Learning ไม่ได้ ซึ่งในทีนี้การประเมินผลก็ง่ายๆ เช่น อาจจะ Assign ให้วิเคราะห์และนำเสนองานเชิงตัวเลข, ทำ Graphc ผ่านโปรแกรม Excel ฯลฯ
        จะเห็นได้ว่า บทเรียน e-Learning นั้น แค่ปรับนิดเดียวก็เข้ามาตรฐาน TQF ได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งก็คงไม่ยากจนเกินไปกับคนที่ทำสื่อทางด้านนี้อยู่แล้ว หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับคนทำสื่อเพื่อการศึกษานะครับ
** ข้อความทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นโดยส่วนตัวของผู้เขียน ถ้ามีส่วนไหนผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

ความคิดเห็น