Moodle Academy Moodle Admin Basics

EP3. คิดแบบ “ผู้นำ” ทำแบบ “ผู้ตาม”


การคิดแบบผู้นำ จะนำไปสู่การบุกเบิกเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่สู่มวลมนุษยชาติ ถ้าไม่มีนักบุกเบิกอย่าง “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ก็คงไม่มีการค้นพบทวีปอเมริกาจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ทุกประเทศต้องฟัง ถ้าไม่มี “สตีฟ จอบส์” ก็คงไม่มีนวัตกรรมไร้ปุ่มกดอย่าง iPod iPhone ให้คนทั่วโลกได้สัมผัส และถ้าไม่มี “สองพี่น้องตระกูลไรท์” ก็คงไม่มีเครื่องบินให้เราได้แตะขอบฟ้าที่สวยงาม

แนวคิดของ “ผู้นำ” กับ “ผู้ตาม” น่าสนใจมากครับ ทั้งสองแนวคิดนี้สามารถนำมาซึ่งความสำเร็จและร่ำรวยได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ “ผู้ตาม” มักชอบสำรวจตลาดและค้นหาปัญหาที่เป็น “ช่องว่าง” ทางการตลาดที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน แล้วนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะตอบสนองต่อผู้คนต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทกำลังพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมแบบออนไลน์รูปแบบใหม่ ก็จะทำการสำรวจว่าความต้องการของตลาดนี้เป็นอย่างไร พอได้ข้อสรุปว่าตลาดมีความต้องการเพราะ “อยากมาสัมมนาแต่ไม่อยากเดินทางเพราะรถติด” หรือ “น่าจะดีถ้าสามารถอบรมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตที่ให้บรรยากาศได้เหมือนกับการอบรมในห้องเรียนจริงๆ”

จากนั้นบริษัทก็จะตั้งหน้าตั้งตาวิจัยและพัฒนาระบบซอฟท์แวร์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับการเรียนในห้องจริงๆ มีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น VDO Conference, Steaming Online รวมถึงสื่อการเรียนแบบ Interactive เป็นต้น  วิธีนี้เป็นพื้นฐานการตลาดทั่วไป และเป็นที่นิยมเพราะได้ผลดี ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้และช่วยลด “ช่องว่าง” ของปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจน

แนวคิดแบบ “ผู้ตาม” ไม่ต่างจากชาวประมงที่ออกหาปลากลางท้องทะเล ใครมีเรือขนาดใหญ่ มีเครื่องมือที่ทันสมัยกว่าย่อมได้เปรียบ การค้นหาปลานั้นใครๆ ก็คิดและทำได้เช่นกัน ถ้าเรือไม่แข็งแกร่งพอไปเจอกับพายุที่พัดโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ก็ย่อมต้องล่มหรือแพ้พ่ายออกไปจากท้องทะเลสีแดงนี้อย่างแน่นอน จะเหลือไว้ก็แต่เพียงเรือขนาดใหญ่ที่ยังคงอยู่รอดเท่านั้น แต่ “ผู้นำ” คิดต่างจากนั้น

“ผู้นำ” เปรียบเสมือน “นักบุกเบิก” ซึ่งไม่มองผู้บริโภคเป็นพระเจ้า แต่มีความเชื่อมั่นว่า “ถ้าทำแบบนี้ แล้วคนอื่นจะตามมาเอง” ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ผมเริ่มใช้ Smart phone ที่ไร้ปุ่มกดอย่างแบรนด์ HTC รุ่น Touch ซึ่งมาพร้อมกับปากกา Stylus ถ้าจำไม่ผิด ในตอนนั้น HTC ถือว่าเป็นแบรนด์ต้นๆ ที่รู้จักในวงการ Smart phone ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Window Mobile CE เป็นตับขับเคลื่อนภายใน ซึ่งถือว่าเจ๋งมากๆ ในตอนนั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังทำได้ไม่ดี แค่พอรับส่งอีเมลและเล่นโปรแกรมแชตอย่าง MSN ได้ ซึ่งสะดวกมากในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน แต่ที่ไม่ชอบอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “การตอบสนองในการกดปุ่มใดๆ บนหน้าจอช้ามาก” และเครื่องค้างอยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญแบตหมดเร็วมาก! จึงเปลี่ยนกลับไปใช้ Nokia เหมือนเดิมเพราะมันเร็วกว่า

เมื่อผู้คนเข้าสู่ยุคสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คกันมากขึ้น ทำให้โทรศัทพ์มือถืออย่าง “แบล็กเบอร์รี่ (Blackberry)” เข้ามาตอบสนองกับ Life style มากขึ้น ด้วยการออกแบบแผงปุ่มกดที่เรียกว่า “QWERTY” ซึ่งเป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานเหมือนกับแป้นพิมพ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อความสะดวกในการพิมพ์ข้อความยาวๆ สำหรับรับ-ส่งอีเมล หรือแม้กระทั่งการแชตเป็นเวลานานๆ ที่สำคัญแบตหมดช้ามาก! ประมาณว่าถ้านั่งแชตกับเพื่อนตั้งแต่เช้าจนค่ำยังไม่หมดเลย

ผมมีโอกาสได้ใช้มือถือ “แบล็กเบอร์รี่” อยู่นานต้องขอยอมรับว่าทาง RIM (Research in Motion) ผู้พัฒนา ได้ออกแบบตัวเครื่องและแผงปุ่มกดมาเป็นอย่างดี พิมพ์ได้คล่องมือมากๆ ถึงแม้ว่าปุ่มกดมันจะดูเล็กไปหน่อย แต่ด้วยการออกแบบโค้งกระชับนิ้วมือของปุ่มกด ทำให้เวลาที่นิ้วโป้งที่กดลงไปบนแป้นพิมพ์มีความถูกต้องแม่นยำไม่เมื่อยนิ้ว แสดงว่าเขาตระหนักและให้ความสำคัญกับการออกแบบปุ่มกดเป็นอย่างมาก

ผมเคยทดลองมือถือแบรนด์อื่นที่มีลักษณะคล้ายปุ่มกดของ “แบล็กเบอร์รี่” ต้องขอบอกว่า “ห่วยมากๆ” แล้วก็ถึงวันที่วงการมือถือค่ายต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต้องล้มครืนกันระนาว โดยชายคนหนึ่งที่ชื่อ “สตีฟ จอบส์” แห่ง Apple เขาคือต้นแบบของ “ผู้นำ” ที่เข้าไปทลายทุกข้อจำกัดของโทรศัพท์มือถือ Smart phone ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่แทบเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกของการสื่อสารไปอย่างสิ้นเชิง กับการเปิดตัว iPhone ในงาน MacWorld 2007

 “จอบส์” แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเขา “เหนือความคาดหมาย” จากสิ่งที่มีอยู่เดิม ด้วยการผสมผสานข้อดีระหว่างเครื่องฟังเพลง (iPod) กับโทรศัพท์ (Phone) และการเชื่อมต่อเครือข่าย (Internet) เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการออกแบบที่เรียบง่ายและมีขนาดพื้นที่หน้าจอใหญ่ถึง 3.5 นิ้ว โดยไร้แผงปุ่มกดใดๆ ให้รกตา จะมีก็แต่ปุ่ม Home เพียงปุ่มเดียวที่วางอยู่ด้านล่างเท่านั้น! ทุกสิ่งทุกอย่างควบคุมด้วยระบบซอฟท์แวร์ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีทำงานได้เร็วและลื่นไหลมากๆ ซึ่ง “จอบส์” เน้นในเรื่องนี้มากกว่าในการออกแบบตัวเครื่องหรือปุ่มกดเช่นแบรนด์อื่นทำกัน 

“ผู้นำ” ต้องสร้างความต้องการที่แม้แต่ผู้บริโภคก็ไม่รู้ตัว ต้องเป็นนักบุกเบิกเข้าไปถึงในจิตใจผู้คน ดังเช่น iPhone ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่า “อยากลองใช้ดูสักครั้ง” ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็นต้องมี” สำหรับทุกคน นั่นแสดงว่า “จอบส์” คิดและทำสวนทางกับนักการตลาดที่ต้องทำการศึกษาและค้นหาความต้องการของผู้บริโภคก่อนที่จะพัฒนาสินค้าขึ้นมาสักชิ้น “จอบส์” เชื่อมั่นในสิ่งที่ได้สร้างขึ้นมานี้จะสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาลองสัมผัสด้วยตัวเอง ซึ่งมีน้อยคนที่จะทำได้อย่าง “สตีฟ จอบส์” เพราะมีโอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะปฏิเสธสินค้านั้น ถ้ามันไม่เจ๋งจริงๆ ใครจะไปรู้ว่า “สตีฟ จอบส์” อาจจะกำลังเล่นกับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ “Maslow’s Hierachy of Needs” ของมาสโลว์ อยู่ก็ได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปค้นหาความต้องการของผู้คนซึ่งมันเป็นความต้องการแบบไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่ “จอบส์” สร้างสิ่งที่ผู้คนอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังต้องการสิ่งนั้นอยู่ก็ได้

“นวัตกรรมใหม่ที่มีแบ่งแยกให้เห็นอย่างชัดเจน ระหว่างความเป็น ผู้นำ และ ผู้ตาม” 
--สตีฟ จอบส์

ความคิดเห็น