Moodle Academy Moodle Admin Basics

EP8. ศิลปินทั่วไป “ลอกเลียน” ศิลปินเอก “ขโมย"

 

“Bad artists copy, Great artists steal”  

นี่คือคำกล่าวของศิลปินเอกของโลก นามว่า “พาโบล ปิกัสโซ่” และเป็นที่มาของวาทะกรรมที่ยิ่งใหญ่ระหว่าง “สตีฟ จอบส์” และ “บิล เกตส์” ที่อ้างคำพูดของปิกัสโซ่ด้วยเช่นกัน

ทำไมทั้งสองคนถึงคิดเช่นนั้น?  

“สตีฟ จอบส์” กล่าวว่า “เราต้องคิดว่าตัวของเราเป็นศิลปิน อย่างที่ปิกัสโซ่พูดว่า ศิลปินที่ดีลอกเลียน ศิลปินเอกขโมย” เขาเอ่ยประโยคนี้กับทีมพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่อย่าง “Lisa” ก่อนที่จะเข้าไปที่ “Palo Alto Research Center” ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรมของบริษัท XEROX ที่ได้คิดค้นระบบติดต่อประสานสังการคอมพิวเตอร์ด้วยรูปภาพกราฟฟิค (Graphic User Interface: GUI) เข้าถึงไฟล์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แทนที่จะเป็นเพียงแค่ตัวเลขหรือข้อความอย่างเดียว รวมถึงอุปกรณ์ควบคุมหน้าจอเพียงแค่ปลายนิ้วที่เรียกว่า “เม้าส์ (Mouse)” ซึ่งผู้บริหารของ XEROX ไม่ได้ให้ความสนใจแถมยังมองว่ามันเป็นเรื่องตลก 

แต่สำหรับ “จอบส์” นี้คือ “นวัตกรรมแห่งอนาคต” เขาเป็นศิลปินเอกโดยการเข้าไปขอข้อมูลกับฝ่ายวิจัย XEROX ที่ผู้บริหารไม่เห็นคุณค่าแล้วนำมาดัดแปลงพัฒนาต่อยอดกับเครื่องคอมพิวเตอร์ “Lisa” จนกลายเป็นเครื่องต้นแบบและกลายมาเป็นเครื่อง “Macintosh” หรือ “Mac” ในเวลาต่อมา

ในขณะที่ “บิล เกตส์” ได้เห็นการทำงานของระบบควบคุม Graphic User Interface บนเครื่องคอมพิวเตอร์ “Lisa”  จึงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขาต้องการระบบควบคุม Graphic User Interface  มาครอบครองจึงตัดสินใจทำตัวเป็นศิลปินเอกอีกคนหนึ่ง โดยการเข้าไปหา “สตีฟ จอบส์” ซึ่งในขณะนั้นกำลังซุ่มสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่อย่าง “Macintosh” เนื่องจากคอมพิวเตอร์ “Lisa” ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเพราะราคาสูงเกินไป โดย “บิล เกตส์” อ้างว่ามีในสิ่งที่ “จอบส์” ไม่มีนั่น ซึ่งทาง IBM ก็สนใจเช่นเดียวกัน แต่เขาอยากร่วมงานกับทาง  Apple มากกว่า “จอบส์” หลงเชื่อคำพูดจนในที่สุด “เกตส์” ก็ได้งานนี้ไปพร้อมกับเครื่องต้นแบบให้ไปพัฒนาจนเป็น “Microsoft Windows” ในที่สุด 

เรื่องราวของอัจฉริยะทั้งสองในโลกของธุรกิจมันคือการชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ใครไวกว่าย่อมได้เปรียบ “บิล เกตส์” เคยกล่าวว่า “จงใกล้ชิดเพื่อนไว้ แต่ใกล้ชิดศัตรูให้มากกว่า” เป็นคำพูดที่ได้พูดก่อนไปนำเสนอขายระบบควบคุม  DOS ให้กับทาง IBM ทั้งที่ยังไม่มีอยู่จริง

ในช่วงที่ผมเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ ต้องยอมรับว่าลำพังแค่ความรู้กับความสามารถอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ จะต้องมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย ทั้งนี้ในการค้นหาความต้องการของลูกค้านั้นเหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทร ซึ่งในมหาสมุทรมีปลาให้เลือกจับมากมาย บรรดาเรือประมงขนาดใหญ่มักได้เปรียบเพราะด้วยขนาดและกำลังคนรวมถึงมีเครื่องมือทันสมัยมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามในน่านน้ำสีฟ้านี้ยังมีปลาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งบรรดาเรือเล็กเรือน้อยต่างก็พากันทยอยออกจากฝั่งก็พลอยเพื่อที่จะได้รับอานิสงค์ในครั้งนี้ไปด้วย

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถต่อกรกับผู้เล่นที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะถ้าเกิดเข้าไปปะทะกันตรงๆ อาจจะเสียเปรียบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของคนตัวเล็กก็คือ "ความว่องไวและปราดเปรียว" ที่คนตัวใหญ่นั้นไม่มี

“ชนาธิป สรงกระสินธ์” หรือ “เมสซี่ เจ” นักฟุตบอลทีมชาติไทยที่พาทีมคว้าแชมป์มาให้คนไทยมีความสุขเป็นหนึ่งมายไอดอลซึ่งผมชื่นชมในความสามารถและพยายาม

“เจ” เป็นคนตัวเล็กสูงไม่ถึง 160 ซม. ในอดีตโดนดูถูกเหยียดหยามสารพัดว่าเขาไม่สามารถจะเป็นนักฟุตบอลได้เนื่องจากตัวเล็กเกินไป

แม้ว่าเขาจะสู้แรงปะทะกับผู้เล่นที่ตัวใหญ่ไม่ได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นทุมเทฝึกฝนอย่างหนักอยู่เป็นประจำ ต้องซ้อมหนักกว่าคนปกติถึง 2 เท่า เขาใช้ความคล่องแคล่วว่องไวและทักษะทางบอลที่ดีทดแทนการปะทะกันแบบซึ่งหน้าทำให้กลายมาเป็นขวัญใจมหาชนที่ทุกคนต่างยอมรับในฝีมือและความสามารถของเขาอย่างแท้จริง

ในโลกธุรกิจการชิงความได้เปรียบในเรื่องของ "ความเร็ว" นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "Economy of Speed" หรือ “ทำให้เร็วแล้วจะประหยัด” เป็นสิ่งที่ธุรกิจขนาดเล็กควรเลือกใช้เป็นกลยุทธ์หลักเพราะด้วยขนาดและความคล่องตัวในการทำงานมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสายการควบคุมที่ค่อนข้างซับซ้อนและไม่ยืดหยุ่น 

และนี่คือกลยุทธ์หนึ่งที่ผมเลือกใช้ในการทำงาน เพราะเมื่อเราสามารถทำได้เร็วกว่าคู่แข่งย่อมมีโอกาสที่ลูกค้าจะไว้วางใจให้ทำงานครั้งต่อๆ ไปได้

นอกจากเรื่องความเร็วในการส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าแล้ว ก็ต้องมีสินค้าที่ตอบสนองกับตลาดและดีกว่าเดิม เคยมีคนถามว่าอยากทำธุรกิจแต่ไม่รู้จะขายอะไรดี คำถามนี้ตอบง่ายมากครับ อย่างแรกเลยต้องเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบและถนัด และอย่างที่สองคือหาต้นแบบสินค้าหรือบริการที่ดีที่สุด แล้ว “เลียนแบบ” ให้ดีกว่าเดิม

ทำไมผมถึงพูดเช่น? เหตุผลก็เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่ธุรกิจเริ่มต้นหรือกิจการขนาดเล็กจะสามารถไปวิจัยตลาดเพื่อค้นหาว่าสินค้าหรือบริการไหนเหมาะกับคนกลุ่มไหนแบบใดเพื่อที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาสินค้าหรือบริการให้เหมาะสมต่อไป 

ผมใช้แนวคิดของการเป็น “ศิลปินเอก ต้องขโมย” เช่นเดียวกับ “สตีฟ จอบส์” และ “บิล เกตส์” แต่คำว่า “ขโมย” ในที่นี้ไม่ใช่การไปขโมยงานของใครแล้วเอาไปขาย แต่เป็นการขโมย “ความคิด” หรือ “ไอเดีย” ในสินค้าและบริการที่มีดีอยู่แล้ว โดยการเปรียบเทียบดูว่าธุรกิจไหนที่ขายสินค้าและมีบริการเหมือนเรา จากนั้นก็เลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดนั้นมาทำให้ได้เหมือนกับเขา การเป็น “ศิลปินเอก” ไม่เหมือนกับ “ศิลปินทั่วไป” ที่ทำได้เพียงแค่ลอกเลียนแบบสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้มีความสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา ลอกมาอย่างไหนก็ได้อย่างนั้น ไม่มีการต่อยอดหรือพัฒนาถ้าเป็นแบบนี้ทำไปก็มีแต่เจ๊งเพราะแค่เขาหั่นลดราคาเราก็สู้ไม่ได้แล้ว 

คิดอย่าง “ศิลปินเอก” ที่แม้ว่าจะลอกเลียนแบบมาอย่างไร ก็ยังใส่ “ความเป็นตัวตน” ลงไปในงานนั้นได้และต่อยอดพัฒนาให้ดีกว่าเดิม นั่นแสดงว่านอกจากจะ “เลียนแบบ” ให้เหมือนหรือใกล้เคียงแล้วที่สำคัญคือ ต้องสร้างความแตกต่างที่คู่แข่งเลียนแบบได้ยาก คล้ายกับการทำอาหารที่สุดท้ายแล้วทำออกมาเหมือนกันแต่รสชาติไม่เหมือนกัน แสดงว่าต้องมี “สูตรลับความอร่อย” ที่แตกต่างกันนั่นเอง

“จงฝันให้ใหญ่ มีเพียงความฝันที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น ที่มีพลังขับเคลื่อนจิตวิญญาณของมนุษย์” -- มาร์คัส ออเรลิอัส


ความคิดเห็น