Moodle Academy Moodle Admin Basics

EP9. รอดได้ ถ้ารู้มาก

“ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความรู้ เป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญมากกว่าปัจจัยผลิตพื้นฐานในอดีต อาทิ ที่ดิน แรงงาน และเงินทุน” -- ปีเตอร์ ดรักเกอร์

ถ้าเปรียบ “ความรู้” เป็นสินค้าชนิดหนึ่งคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ โดยเฉพาะยุคดิจิตอลคลองโลกแบบนี้ มีประชากรกลุ่มหนึ่งที่สร้างตัวจาก “ความรู้” มาแล้วมากมายเลยทีเดียว เพราะสามารถเริ่มต้นได้ทันทีภายใต้ต้นทุนที่แทบไม่ต้องมี ยิ่งให้มากก็ยิ่งได้รับมากทั้งชื่อเสียงและเงินทอง ในขณะที่สินค้าอื่นในตลาดแข่งขันกันที่ราคาแต่สินค้าประเภทความรู้นี้แข่งขันกันที่ไอเดีย

“เบรนดอน เบอร์ชาร์ด” ผู้แต่งหนังสือขายดีอย่าง “The Millionaire Massager” จากเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่งกลายมาเป็นผู้เชียวชาญและเจ้าของสถาบัน Expert Academy โดยการนำเอาแนวคิดของคนที่ประสบความสำเร็จจากที่ต่างๆ มารวบรวมไว้แล้วนำมาสอนผ่านเว็บไซต์ หนังสืออีบุ๊ค รวมถึงทำเป็นคลิปวีดีโอออกเผยแพร่จนประสบความสำเร็จ เขากล่าวว่า “ไอเดียคือเงินสกุลใหม่ของโลกยุคนี้”

การเรียนรู้ต่อไปในอนาคตจะเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย หน้าที่ของเราคือต้องก้าวทันเทคโนโลยีให้ทัน เพื่อการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลในการทำงานสูงสุด และการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต คงไม่ได้มองแค่เรื่องของสินค้า (Product) เพียงอย่างเดียว แต่การบริการ (Service) จะเริ่มแข่งขันกันสูงขึ้น และ key success factor ที่สำคัญที่สุดก็คือ “คน” นั่นเอง

ดังนั้นการขายความรู้และความเชี่ยวชาญจึงเป็นสินค้าที่น่าสนใจ ถ้าหาก

มันสามารถช่วยทำให้ลูกค้าโอกาสได้เงินมากขึ้น

ช่วยทำให้ลูกค้าประหยัดเวลาหรือลดต้นทุนบางอย่างลงจนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

จงค้นหาความถนัดและเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ เพราะมันจะนำไปสู่แหล่งรายได้ที่สำคัญต่อไปในอนาคต ดังนั้นงานอะไรที่ชอบและทำได้ดี และมักจะได้รับการขอคำปรึกษาอยู่เสมอ นั่นคือจุดแข็งของคุณ จงใช้จุดแข็งนั้นมาสร้างเป็นโอกาสและรายได้ให้กับตัวเองต่อไป

ผมเป็นคนที่ชอบเขียนโปรแกรม ชอบตกแต่งรูป ชอบสร้างภาพเคลื่อนไหว รักการอ่านและชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ โชคดีที่ได้งานที่เหมาะกับสิ่งที่ชอบ จึงพยายามศึกษาและเรียนรู้งานจนเกิดความชำนาญในสิ่งที่ทำ

เมื่อเจอสิ่งที่ชอบแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องลงมือทำให้มันเป็นจริง ผมเห็นช่องว่างทางด้านการฝึกอบรมแบบเก่าที่อาจไม่ตอบสนองกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในยุคใหม่นี้ การเดินทางฝ่าฝันมาอบรมในแต่ละครั้งอาจไม่ใช่คำตอบ

ในการอบรมที่มีวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ มีผลการวิจัยพบว่า ผู้เรียนจะมีความตั้งใจในช่วง 20 นาทีแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ จางหายไปจนกว่าจะได้รับการกระตุ้นขึ้นมาใหม่ 

ความจำของมนุษย์เป็นไปตามลำดับขั้นคือ เมื่อเราอ่าน จะจำได้ 10% แต่ถ้าเราฟัง 20% ถ้าเราทั้งฟังและอ่าน 50% แต่ถ้าสามารถอธิบายและลงมือทำไปด้วย จะจำได้ถึง 90% เลยทีเดียว

จากช่องว่างทางการตลาดนี้ ผมจึงใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ โดยสร้างระบบและสื่อการอบรมแบบออนไลน์ที่เรียกว่า E-Learning เพื่อช่วยในการลดต้นทุนในการฝึกอบรมให้กับองค์กรขนาดใหญ่ โดยจัดการความรู้ให้เสมือนหนึ่งการฝึกอบรมชั้นห้องเรียน สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ช่วยลดความสูญเสียทั้งแรง เวลา และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากที่จะได้ใช้ทักษะความสามารถในการผลิตและวางระบบแล้ว สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือ การได้เรียนรู้เนื้อหาที่จะนำมาผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้ออนไลน์จากองค์กรชั้นนำต่างๆ และก็ยังสามารถทำรายได้หลายล้านบาทให้กับผมด้วย เรียกได้ว่า “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกถึงสองตัว”

ในการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์และวิจัยต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่ได้รับเนื้อหามาแล้ว Copy & Paste ได้เลย แต่ต้องผ่านกระบวนการคิดและพัฒนา Copy & Develop ถึงจะทำให้ได้สื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลแก่ผู้เรียนสูงสุด

 “Bloom” เป็นนักการศึกษาชาวอเมริกัน เชื่อว่า การเรียนการสอนที่จะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพนั้น ผู้สอนจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน และได้แบ่งประเภทของพฤติกรรมโดยอาศัยทฤษฎีการเรียนรู้และจิตวิทยาพื้นฐานว่า มนุษย์จะเกิดการเรียนรู้ใน 3 ด้านคือ ด้านสติปัญญา ด้านร่างกาย และด้านจิตใจ และนำหลักการนี้จำแนกเป็นจุดมุ่งหมายทางการศึกษาเรียกว่า “Taxonomy of Educational objectives”

ได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย

ในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของ “Bloom” นั้น ในด้านของพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือพฤติกรรมทางด้านสมอง เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความคิด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งพฤติกรรมทางพุทธิพิสัย 6 ระดับ ได้แก่

1. ความรู้ (Knowledge) เป็นความสามารถในการจดจำแนกประสบการณ์ต่างๆและระลึกเรื่องราวนั้นๆออกมาได้ถูกต้องแม่นยำ

2. ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถบ่งบอกใจความสำคัญของเรื่องราวโดยการแปลความหลัก ตีความได้ สรุปใจความสำคัญได้

3. การนำความรู้ไปประยุกต์ (Application) เป็นความสามารถในการนำหลักการ กฎเกณฑ์และวิธีดำเนินการต่างๆของเรื่องที่ได้รู้มา นำไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ได้

4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถในการแยกแยะเรื่องราวที่สมบูรณ์ให้กระจายออกเป็นส่วนย่อยๆได้อย่างชัดเจน

5. การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการผสมผสานส่วนย่อยเข้าเป็นเรื่องราวเดียวกัน โดยปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น

6. การประเมินค่า (Evaluation) เป็นความสามารถในการวินิจฉัยหรือตัดสินกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป การประเมินเกี่ยวข้องกับการใช้เกณฑ์คือ มาตรฐานในการวัดที่กำหนดไว้

ยังมีทฤษฎีการเรียนรู้อีกมากมายที่ผมให้ความสนใจกับการประยุกต์ใช้ผลิตสื่อฝึกอบรม นอกจากความรู้และความเชี่ยวชาญในงานที่ทำแล้ว เรายังสามารถต่อยอดความรู้ให้สามารถเพิ่มรายได้อีกทาง เช่น การเขียนหนังสือ การจัดสัมมนา การเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเราสามารถต่อยอดไอเดียนำความรู้ที่มีไปใช้ได้อีกมากมาย

เหมือนกับพ่อครัวที่แสดงวิธีการทำอาหาร แต่ก็ขายหนังสือสอนทำอาหารด้วย ร้านของเขายังมีลูกค้าเข้ามาเสมอไม่เคยลดน้อยลงมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นๆ สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็คือ “การแบ่งปันต่อผู้อื่น”

ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวว่า ... 

“มือของผู้ให้ย่อมอยู่สูงกว่ามือของผู้รับเสมอ”

เพราะเมื่อคุณ “แบ่งปัน” สิ่งที่รู้จะกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในสายตาผู้อื่นที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาสัมผัสและลิ้มลองสักครั้ง เมื่อทดลองใช้แล้วดีก็จะเกิดการบอกต่อ 

เห็นมั้ยครับว่าการใช้ความรู้ทำกำไรนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องค้นหาให้เจอว่าเราถนัดและเชี่ยวชาญในสิ่งใดแล้วใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ ค้นหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ และเมื่อไหร่ที่สามารถสร้างประโยชน์ที่ชัดเจนให้เขาได้ เมื่อนั้นตัวเลขรายได้ที่ปรารถนาจะตามมาเองครับ

“การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คือ คุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับความสำเร็จในทุกสาขาอาชีพ” -- เดนนิส เวตเลย์

ความคิดเห็น